พิมพ์

ประวัติ

โรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน  ชะอำ

มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

สาขาชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี

 

ความเป็นมาของการก่อสร้าง

 

          สืบเนื่องจากเมื่อวันที่  30  มกราคม  2545  คุณกุสุมา  บีเค็นน์ (มินทะขิน)  พร้อมครอบครัวได้เข้าร่วมพิธีเปิดป้ายโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรี  ได้รับรู้ถึงปัญหาใหญ่ของคนตาบอดในประเทศไทยที่มีความพิการอื่นร่วมอยู่ด้วย  ไม่สามารถพึ่งตนเองได้  หรือไม่มีผู้ดูแลตกอยู่ในสภาพด้อยโอกาส  สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการดูแล เอาใจใส่ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาหรือความช่วยเหลือเป็นพิเศษจึงได้แสดงความจำนงบริจาคที่ดินจำนวน  10  ไร่  1  งาน  71  ตารางวา  ที่หมู่  4  บ้านห้วยหิน  ตำบลเขาใหญ่  อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี  ให้แก่มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์  ด้วยความตั้งใจอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่คุณแอนโทนีชาร์ลส์  บีเค็นน์   ผู้เป็นสามีที่ล่วงลับไปแล้ว  เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน  ชะอำ  ต่อไป

          เมื่อวันที่  8  พฤษภาคม  2550  ดร.ประหยัด  ภูหนองโอง   ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ   และแพทย์หญิงวัฒนีย์  เย็นจิตร  ได้มีหนังสือเชิญนายชวลิต  จงเจริญชัยสกุล  เจ้าของและผู้จัดการบริษัทเขาใหญ่ศิลา  เข้าเป็นกรรมการมูลนิธิธรรมิกชน  สาขาเพชรบุรี  ซึ่งมีนายแสวง  เอี่ยมองค์ เป็นประธานกรรมการดำเนินงาน  เพื่อจะได้ร่วมประสานงานการดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน  ชะอำ  บนที่ดินที่คุณกุสุมา  บีเค็นน์ (มินทะขิน)    บริจาคดังกล่าวข้างต้น  ในการประชุมตอนนั้นนายแสวง  เอี่ยมองค์  ประธานกรรมการดำเนินงาน  ได้เสนอบริจาคที่ดินของตนเองที่อำเภอเขาย้อย  จังหวัดเพชรบุรี  ให้คณะกรรมการพิจารณาเป็นที่ก่อสร้างโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดเพชรบุรี  และคณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบให้ทำการก่อสร้างโรงเรียนธรรมิกวิทยา  เน้นการเรียนวิทยาศาสตร์  ที่อำเภอเขาย้อย  จังหวัดเพชรบุรีก่อน  การก่อสร้างบนที่ดินที่คุณกุสุมา  บีเค็นน์ (มินทะขิน)  บริจาคที่อำเภอชะอำต้องชะลอไปก่อน  แต่คุณกุสุมา  บีเค็นน์ (มินทะขิน)  ก็ได้ติดตามข่าวความคืบหน้าในการก่อสร้างตลอดเวลา

          จนกระทั่งปี  2552  มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์  ได้มีมติให้ทำการก่อสร้างโรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน  ชะอำ  บนที่ดินที่คุณกุสุมา  บีเค็นน์ (มินทะขิน)  บริจาคให้  โดยแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิธรรมิกชน  สาขาชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี  มีนายชวลิต  จงเจริญชัยสกุล  เป็นประธานกรรมการดำเนินงาน  นางสาวนิตยา  พรสมบูรณ์ศิริ  เป็นรองประธานกรรมการดำเนินงาน   ซึ่งได้จัดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้าง  เมื่อวันที่  10  ธันวาคม  2552 

งบประมาณและการดำเนินการก่อสร้าง

          การก่อสร้างโรงเรียนได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่  13  ธันวาคม  2556  โดยคณะกรรมการดำเนินงาน  มูลนิธิธรรมิกชน  สาขาชะอำ  ประกอบด้วยนายชวลิต  จงเจริญชัยสกุล  ประธานกรรมการดำเนินงาน  มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์   สาขา ชะอำ             นายมานะ  วัฒนากร  โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเพชรบุรี  นายสมนึก  หอมนาน  หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิ  สาขาชะอำ  และนายบุญมี  จันทร์อนุกูล   กรรมการดำเนินงาน สาขาชะอำ   เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง            ด้วยเงินงบประมาณก้อนแรกจากการทอดผ้าป่ามหากุศลที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช     สกลมหาสังฆปริณายก  ทรงเป็นประธานจัดขึ้น  เมื่อวันที่  14  กุมภาพันธ์  2556  ได้ยอดเงินบริจาคจำนวน  15,286,877.91  บาท  ( สิบห้าล้านสองแสนแปดหมื่นหกพันแปดร้อยเจ็ดสิบเจ็ดบาทเก้าสิบเอ็ดสตางค์ )   โดยมูลนิธิธรรมิกชนและผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสมทบอีก  ซึ่งสิ่งปลูกสร้างประกอบด้วย  อาคารสำนักงาน  อาคารเรียน  อาคารโรงอาหาร  อาคารหอพักนักเรียน  อาคารโรงซักรีด  ถนนคสล.  ภายในโรงเรียน    วางระบบน้ำประปา  สร้างถังเก็บน้ำ  วางท่อระบายน้ำทิ้ง  สร้างทางฟุตบาท  สร้างถนนธารน้ำใจ สร้างถนนลาดยางเข้าโรงเรียน  สร้างเสาธง   การขยายเขตไฟฟ้าและติดตั้งหม้อแปลง  การก่อสร้างกำแพงล้อมรอบโรงเรียน  และสร้างป้ายชื่อโรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน  ชะอำ  โดยงบประมาณทั้งสิ้น  40,853,492.80  บาท  ( สี่สิบล้านแปดแสนห้าหมื่นสามพันสี่ร้อยเก้าสิบสองบาทแปดสิบสตางค์ )  นอกจากนั้นมูลนิธิธรรมิกชน  สาขาชะอำ  มีแนวนโยบายว่า  ณ  สถานที่แห่งนี้ในอนาคตจะขยายแผนงานได้อีกหลายอย่าง  เช่น  โครงการศูนย์ฝึกสุนัขนำทางคนตาบอด  โครงการสร้างสถานที่ฝึกอบรมสัมมนา  หอพักและหรือ  รีสอร์ท  เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง  และโครงการก่อสร้างศูนย์การศึกษาคนตาบอดแห่งอาเซียนเป็นต้น  จึงได้มีการจัดซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติมอีกปัจจุบัน  (2559)  มีที่ดินทั้งหมดจำนวน  49 ไร่เศษ

          อนึ่งในปีงบประมาณ  2558  เทศบาลตำบลนายาง  ได้ให้การสนับสนุนโดยการก่อสร้างสะพาน คสล. ข้ามคลองชลประทานและถนนลาดยางเข้าโรงเรียนเป็นเงิน  2,604,000  บาท  ( สองล้านหกแสนสี่พันบาท ) 

วัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง

          การก่อสร้างโรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน  ชะอำ    มีวัตถุประสงค์สำคัญดังนี้

          เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดีตามศักยภาพของแต่ละคน

          เพื่อฝึกทักษะชีวิตด้านสังคม  การศึกษาและอาชีพให้แก่คนตาบอดพิการซ้ำซ้อนจนสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม

          เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมและเชื่อมต่อการพัฒนาศักยภาพคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน

          เพื่อเป็นสถานที่ให้การอบรมคุณธรรม  จริยธรรมและดูแลช่วยเหลือคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนที่ขาดโอกาสทางครอบครัวและสังคม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี  อยู่ร่วมกับสังคมอย่างมีความสุข

การรับนักเรียนและเปิดการเรียนการสอน

 

          การก่อสร้างต่างๆ ได้เสร็จสมบูรณ์ในต้นปี  2559  และเปิดการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 16  พฤษภาคม  2559    โดยรับนักเรียนระดับชั้นปฐมวัย  และระดับประถมศึกษา  ซึ่งในปีการศึกษา  2559  รับนักเรียนทั้ง  2 ระดับ  จำนวน  30  คน  ปีการศึกษา  2561  รับเพิ่มเป็น  60  คน  และรับเพิ่มเป็น  120  คน ในปีต่อไป  ทั้งนี้  คณะกรรมการดำเนินงานมูลนิธิธรรมิกชน  สาขาชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จมาทรงเปิดป้ายชื่อโรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน  ชะอำ  ในวันที่  26  มิถุนายน  2560

          การบริหารจัดการโรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน  ชะอำ

 

          โรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน  ชะอำ  ได้ดำเนินการขออนุญาตและได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ   ตามหนังสือที่ ศธ. 04105/751  ลงวันที่  31  มีนาคม  2559  เลขที่ใบอนุญาต  2/2559   อนุญาต  ณ  วันที่  21  มีนาคม  2559  โดยมีผู้บริหารสำคัญ คือ

 

          นายชวลิต  จงเจริญชัยสกุล         ประธานมูลนิธิ  สาขาชะอำ  

          นางกรกนก  ศิริวงษ์           ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต  และผู้อำนวยการโรงเรียน

          นายสมนึก  หอมนาน                  ผู้จัดการโรงเรียน

วิสัยทัศน์               พร้อมจะพัฒนาเด็กตาบอดให้อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี มีสิทธิเท่าเทียมบุคคลทั่วไป  ไม่เป็นภาระแก่สังคม

ปรัชญาโรงเรียน   ชีวิตเริ่มต้นที่โอกาส  เพิ่มพูนความสามารถด้วยการศึกษา สู่ความก้าวหน้าด้วยคุณธรรม

เอกลักษณ์           ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี  มีคุณธรรม

อัตลักษณ์            ร่าเริง  แจ่มใส  อัธยาศัยดี  มีคุณธรรม

 

สถานที่ตั้งติดต่อ    เลขที่  88  หมู่  4  บ้านห้วยหิน  ตำบลเขาใหญ่  อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี  76120  โทรศัพท์ 032-899713 , 099-0099290  โทรสาร  032-899 713  E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  

 

เว็บไซต์  :  www. cfbt.or.th/ca

 

Fan page  Facebook :  โรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน ชะอำ

รายชื่อคณะกรรมการที่ปรึกษาและคณะกรรมการดำเนินงาน

มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์  สาขาชะอำ

คณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์  สาขาชะอำ

1 นายอำเภอชะอำ ประธานที่ปรึกษา

2 ผู้อำนวยการมูลนิธิธรรมิกชนฯ    รองประธานที่ปรึกษา

3 นายนุกูล  พรสมบูรณ์ศิริ            ที่ปรึกษา

4 ผู้กำกับสถานีตำรวจ สภ.ชะอำ    ที่ปรึกษา

5 พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบุรี ที่ปรึกษา

6 ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดเพชรบุรี ที่ปรึกษา

7 ดร.แสวง  เอี่ยมองค์           ที่ปรึกษา

8 นายอนุรักษ์  พรสมบูรณ์ศิริ           ที่ปรึกษา

9 นายโกมล  มาลัยทอง           ที่ปรึกษา

10 นางดวงพร  แพร้วรุ่งเรือง   ที่ปรึกษา

11 นายไพโรจน์  พรสมบูรณ์ศิริ           ที่ปรึกษา

12 นายสุชาติ  ลิตบัว           ที่ปรึกษา

13 นายรัตน์  เป็นศิริ           ที่ปรึกษา

14 นายเชาว์  กุฎาคาร           ที่ปรึกษา

15 นายอำนาจ  บัวหลวง           ที่ปรึกษา

16 นายสุบัน  สวัสดิ์ประภา   ที่ปรึกษา

17 นายชวลิต  จงเจริญชัยสกุล           ประธานกรรมการดำเนินงาน

18 นางสาวนิตยา  พรสมบูรณ์ศิริ   รองประธานกรรมการ

19 นางสาวสุกัญญา  อินทวาด           กรรมการและเหรัญญิก

20 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี หรือผู้แทน กรรมการ

21 โรงพยาบาลชะอำ หรือผู้แทน  กรรมการ

22 นางกุสุมา  บีเค็นน์  (มินทะขิน)  กรรมการ

23 นายบุญมี  จันทร์อนุกูล  กรรมการ

24 นายสุชิน  อินทวาด          กรรมการ

25 นายจำนงค์  ตันติรัตนโอภาส  กรรมการ

26 นายนิวัฒน์  พรสมบูรณ์ศิริ          กรรมการ

27 นายรักไทย  ตรีไกรศรี          กรรมการ

28 นายเฉลิม  ยี่สาร          กรรมการ

29 นายสุริยัน  มั่นประสงค์ กรรมการ

30 นายประสม  เนาวบุตร         กรรมการ

31 นายสมนึก  หอมนาน          กรรมการและเลขานุการ

 

สถิติจำนวนนักเรียน                       33         คน

          อนุบาล 1                               7          คน

          อนุบาล 2                               7         คน

          อนุบาล 3/1                            7          คน

          อนุบาล 3/2                            6          คน

          ประถมศึกษาปีที่ 1                  6          คน       

 

สถิติจำนวนบุคลากร                        26        คน

          สายงานบริหาร                           1       คน

          สายงานวิชาการ                         5       คน

          สายงานทั่วไป                          18       คน

          สัญญาจ้างรายวัน                        2       คน   

 

 

                       

หมวด: เกี่ยวกับเรา
ฮิต: 43513